พื้นเปียกลื่น กับผู้ป่วยเตียงสอง (๖๕.)

ทำบุญแล้วเป็นสุข
ชีวิตเรา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง คละกันไป


[ปรับตัว อยู่กับความทุกข์]
ครั้งนี้ เล่าถึงทุกข์ที่ดูแลผู้ป่วย
คือ คุณแม่ของผมเอง
ในชีวิตจริงแล้ว การดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่ความสุข
ที่บันทึกไว้ เพราะเป็นความทรงจำ
คนเราจะสุข จะทุกข์ ก็ต้องจดจำ
จะเลือกจำแต่สุขอย่างเดียว ก็คงเลือกไม่ได้
จำแล้วก็ต้องเรียนรู้ นี่คือเหตุผลที่จดบันทึก
การจดก็เหมือนการระบาย คลายทุกข์ไปด้วย
ที่สำคัญผมต้องปรับตัว อยู่กับความทุกข์ให้ได้
แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า ผมยังโชคดี
ที่คุณแม่ยังไม่ติดเตียง ยังไม่ใส่ท่อ ไม่หนักกว่าเดิม
ณ ตอนนี้นะครับ อนาคตก็ยังไม่รู้
มีผู้ป่วยอีกมากมายเหลือเกิน ที่นอนเตียงหนึ่ง
ที่หนักกว่าคุณแม่ของผม
ผมถึงเล่าถึงผู้ป่วยเตียงหนึ่ง
ที่ไปเห็นมา และไม่อยากให้คุณแม่เป็น
ในอนาคตของผม หรือของผู้อ่านทุกคน
มีโอกาสเป็นเตียงหนึ่ง หรือเตียงสองได้
เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน
ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำกันมา
ให้ตระหนัก ให้เรียนรู้ ให้ป้องกัน ให้เป็นข้อมูล ให้ทำใจ
เพราะนี่คือชะตากรรมที่ผมเผชิญอยู่จริง
และหวังว่าจะไม่ทุกข์ไปกว่าเดิม

[ไม่ได้เล่ามาเกือบสองเดือน]
อัพเดท อาการคุณแม่ครับ
สรุปภาพรวม คือ ดีขึ้น
ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียงแบบที่กลัวในตอนแรก
ที่ผ่านมาไปโรงพยาบาลเฉลี่ยเดือนละครั้ง
ล่าสุด
ตรวจ CT-Scan ปอด ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใหม่
ตามที่คุณหมอสงสัย จากการเห็นในฟิล์ม x-ray
ที่พบ คือ รอยปอดอักเสบที่เคยเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน
ไปตรวจรอบใหม่ ก็ไม่พบอาการที่น่าสงสัย
ไม่ขยาย ไม่มีไข้ ไม่ไอเรื้อรัง
อาการเจ็บร่างกายจุดต่าง ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ
เดินโยกเยก จนล้มก็ยังมีเหมือนเดิม
เมื่อเช้าก็เซล้ม แต่ไม่เป็นไรมาก บ่นนิดหน่อย
เพราะมือท่านเหนียวจับฉวยได้แน่น
คงกังวลเรื่องพื้นเปียกลื่น ตอนนั่งหน้าทีวี
ท่านห่วงเรื่องพื้นเปียก กลัวลื่น

[ผู้ป่วยเตียงสอง]
คุณแม่มีอาการอัลไซเมอร์
ยกระดับจากเดิมมาได้ปีเศษแล้ว
คือ จำเรื่องเก่าบ้าง และมีเหตุผลตามที่เชื่อ
ความจำจะมา และหายไป เร็วบ้าง ช้าบ้าง
อารมณ์ และการพูดก็จะขึ้นลงต่างในแต่ละวัน
นึกถึง การไปห้องพิเศษ ตอนไปนอนโรงพยาบาล
ต้องเป็นผู้ป่วยที่ดูแลตนเองได้
หรือ มีผู้ดูแลที่เชื่อได้ว่าจะดูแลผู้ป่วยได้
คุณแม่นอนโรงพยาบาล 2 ครั้ง ช่วง 1 ปีนี้
ผมไปเฝ้าแล้ว ได้เห็นผู้ป่วยเตียงหนึ่ง
เห็นทีไรก็ไม่สบายใจ สงสาร
เพราะผู้ป่วยเตียง 1 จะมีสัญญาณชีพต่ำกว่า
หรือเข้าเกณฑ์ต้องดูแลเป็นพิเศษใกล้ชิด
คุณแม่เคยอยู่เตียง 2 ที่โรงพยาบาลศูนย์
และต้องมัด ป้องกันท่านลงเตียงเอง
คุณแม่ก็มีปัญหาตอนนอนโรงพยาบาลทุกครั้ง
เรื่องการรู้เจ็บ รู้สถานที่น้อย รู้ตัวเองน้อย
ไม่ยอมใส่แพมเพิส และจะลงเตียงกลับบ้านเอง
การนอนโรงพยาบาล จึงเป็นปัญหาใหญ่
ช่วงนี้ความจำมีปัญหาบ้าง
คลายล็อกวีลแชร์ไม่ได้
หาแปรงสีฟันไม่พบ
หาเสื้อนอนในตู้ไม่พบ ไม่รู้ว่ามีอยู่
จะกลับบ้านเก่า 50 ปีก่อน ก็มีแต่น้อยลง
นอนร้องไห้เอง เพราะคิดเรื่องเจ็บป่วย
เบื่ออาหารก็มีเป็นบางวัน คือ ไม่กินข้าวเลย
สามารถทานขนมที่ชอบได้
เวลามีคนคุยด้วย ท่านเหมือนคนปกติ
คุณแม่จะโต้ตอบได้ปกติ เหมือนไม่ป่วย
เรียกว่า ถามมา ตอบไป ได้สบายมาก
ถูกบ้างผิดบ้าง ก็ตามเนื้อหา

[พื้นเปียกลื่น]
พักหลังพื้นเปียกลื่นบ่อย
คุณแม่จะคุมปัสสาวะไม่ค่อยได้ บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ท่านจะไม่ปล่อยในที่นอน
มีบ้าง ก็จะซักผ้าปู ผ้าห่ม 2 สัปดาห์ครั้ง
แต่ที่เปียกลื่นเป็นประจำ
คือ ตีนเตียงถึงหน้าห้องน้ำระยะ 2 เมตร
เป็นพื้นกระเบื้อง
หนึ่งเดือนหลังมานี้ เปียกทุกวัน
ใช้เวลาจัดการตอนพาท่านไปทานข้าว
ท่านทานเองได้ ส่วนผมก็มาเช็ดที่เปียก
ระยะหลังใช้ผ้า 2 ผืน
ผ้าเช็ดเท้าที่เปียก นำมาซักและบิดน้ำแรกออก
เพราะเหม็นมากจากการหมักปัสสาวะ
ซักผ้าเปียกรอบสอง และรอบสามผสมน้ำยาถูพื้น
นำผ้าที่ซักแล้ว 2 ผืน ไปถูพื้นที่เปียกปัสสาวะ
เช็ดคราบเปียกรอบแรกออก ทุกรอบใช้ 2 ผืน
นำมาซัก แต่ละครั้งซักผ้า 2 รอบ
วันไหนที่เปียกเยอะ กินบริเวณกว้าง เห็นรอยชัด
ก็จะถู 3 รอบด้วยผ้า 2 ผืน คิดเป็นการถู 6 รอบ
เท่ากับซักผ้าทั้งหมด 12 ครั้งเป็นอย่างน้อย
บางครั้งก็ซักผ้ามากกว่า 2 รอบ
หากกลิ่นคาวไม่หมดก็เอาไปถูไม่ได้
ระหว่างจัดการเรื่องผ้า
ก็จะจัดการเรื่องล้างห้องน้ำไปด้วย
เพราะห้องน้ำจะเหม็นปัสสาวะในตอนเช้า
เนื่องจาก หลังคุณแม่ปล่อยในห้องนอนแล้ว
ก็จะมาปล่อยหยดในห้องน้ำทุกครั้ง
มากบ้างน้อยบ้าง ต่างกันไป
บางวัน 
คุณแม่ก็ปล่อยหน้าทีวี หรือในห้องครัว
ผมก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยทันที
ใช้เวลาเหมือนในห้องนอน
แต่กลิ่นน้อยกว่าเยอะ เพราะทิ้งไว้ไม่นาน
ที่เล่าไปนี่ ผมเริ่มชินแล้วครับ
เพราะทำทุกวันมาหลายเดือน

[สรุปอีกครั้ง]
ในชีวิตจริงแล้ว การดูแลผู้ป่วย ไม่ใช่ความสุข
ที่บันทึกไว้ เพราะเป็นความทรงจำ
คนเราจะสุข จะทุกข์ ก็ต้องจดจำ
จะเลือกจำแต่สุขอย่างเดียว ก็คงเลือกไม่ได้
จำแล้วก็ต้องเรียนรู้ นี่คือเหตุผลที่จดบันทึก
การจดก็เหมือนการระบาย คลายทุกข์ไปด้วย
ที่สำคัญผมต้องปรับตัว อยู่กับความทุกข์ให้ได้

ความคิดเห็น